ภาษีเงินได้ จากการทำธุรกิจบ้านเช่า

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีประกอบกิจการบ้านเช่า

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 35 และมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

: นาย ก. ประกอบกิจการบ้านให้เช่า โดยผู้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและในสัญญาเช่าระบุให้ผู้เช่าชำระค่าภาษี และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้ให้เช่า ท่านจึงขอทราบว่า
1. เมื่อผู้เช่าหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 แล้ว ผู้เช่าจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ให้เช่าหรือไม่ ถ้าไม่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมีโทษอย่างไร
2. ผู้ให้เช่าจะต้องนำภาษีที่ผู้เช่าออกแทนให้มาคำนวณเป็นรายได้ของผู้ให้เช่าหรือไม่
3. ผู้ให้เช่าสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้เช่าออกแทนให้ไปและนำส่งกรมสรรพากรไปเครดิตภาษีตอนสิ้นปีได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

: 1. ตามข้อ 1 ผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดามีเงินได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร จากผู้เช่าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นผู้เช่าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยผู้เช่ามีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ให้เช่า สองฉบับมีข้อความตรงกัน ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 หากผู้เช่าไม่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้เช่าจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 35 และมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. ตามข้อ 2 หากสัญญาเช่าได้ระบุให้ผู้เช่าเป็นผู้ชำระภาษีเงินได้แทนผู้ให้เช่าผู้ให้เช่าต้องนำเงินค่าภาษีที่ผู้เช่าออกแทนให้มาถือเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้ให้เช่า เงินภาษีที่ผู้เช่าออกแทนผู้ให้เช่าเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
3. ตามข้อ 3 ผู้ให้เช่าสามารถนำค่าภาษีที่ผู้เช่าออกแทนให้และนำส่งกรมสรรพากรไปเครดิตภาษีตอนสิ้นปีได้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มาข้อมูล : กรมสรรพากร

 

Visitors: 1,444,997